สาขาวิชานวัตกรรมวัสดุ

หลักสูตร

ภาษาไทย: หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวัสดุเพื่อความยั่งยืน
ภาษาอังกฤษ: Doctor of Philosophy Program in Materials Innovation for Sustainability

 

ชื่อปริญญา

ภาษาไทย: ชื่อเต็ม : ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (นวัตกรรมวัสดุเพื่อความยั่งยืน)
ชื่อย่อ : ปร.ด. (นวัตกรรมวัสดุเพื่อความยั่งยืน)
ภาษาอังกฤษ: ชื่อเต็ม : Doctor of Philosophy (Materials Innovation for Sustainability)
ชื่อย่อ : Ph.D. (Materials Innovation for Sustainability)

 

ปรัชญา / วัตถุประสงค์

ปรัชญาของหลักสูตร

นวัตกรรมวัสดุเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและสรรค์สร้างวัสดุใหม่ที่มีบทบาทสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในด้านต่างๆ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมและสุขภาวะที่ดี   ในปัจจุบันที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกนำมาใช้และหมดไปอย่างรวดเร็ว สภาวะสิ่งแวดล้อมและโลกร้อนอยู่ในขั้นวิกฤติ ก่อให้เกิดภัยพิบัติและโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการผลักดันจากนานาชาติ  ในการกำหนดให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติต้องคำนึงถึงการหมุนเวียนใช้ในห่วงโซ่คุณค่าอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำกลับมาเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม รวมทั้งเร่งพัฒนาวัสดุนวัตกรรมเพื่อมาทดแทนวัสดุที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยจุดแข็งคือความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ 

เพื่อตอบสนองต่อทิศทางในการพัฒนาดังกล่าว “หลักสูตรวิทยาศาสตร์ดุษฏีบัณฑิตสาขานวัตกรรมวัสดุเพื่อการพัฒนาอย่างยังยืน” จึงได้ออกแบบรายวิชา เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีทักษะความรู้บนฐาน 3 ด้าน คือ   1) กระบวนการพัฒนาวัสดุเพื่อการประยุกต์ใช้ที่เหมาะสม 2)  กระบวนการพัฒนานวัตกรรม 3) แนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้หลักสูตรยังได้ออกแบบให้นักศึกษามีทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ทักษะความเป็นผู้นำทักษะการแสดงความคิดเชิงวิพากษ์ ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นในพหุสังคม ทักษะการสื่อสารในเวทีนานาชาติอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนอย่างสร้างสรรค์ 
หลักสูตรนี้นำทฤษฎีการสร้างความรู้และทักษะปัญญาด้วยตนเอง (Constructivism Theory) มาใช้ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้และการติดตามประเมินผลการเรียนรู้ และนำทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญาสังคม (Social Cognitive Theory) ที่เน้นแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ การเรียนรู้โดยการสังเกต (Observational Learning) การกำกับตนเอง (Self- Regulation) และการรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) มาใช้ในการสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ของนักศึกษาในหลักสูตร โดยเชื่อมโยงกับผลลัพท์การเรียนรู้ของหลักสูตรทั้ง 6 ด้าน เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะและทักษะดังที่ได้ออกแบบไว้


วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

หลักสูตรปรัญชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวัสดุเพื่อความยั่งยืน มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาวัสดุศาสตร์ระดับสากล และสามารถบูรณาการเชื่อมโยงองค์ความรู้เพื่อทำงานวิจัยที่นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่และการสร้างสรรค์งานนวัตกรรมวัสดุที่ทันต่อยุคสมัย สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม มีความคิดสร้างสรรค์ มีแนวคิดในการเป็นผู้ประกอบการ และมีความสามารถในการสื่อสารเชิงวิชาการระดับนานาชาติ มีความเป็นผู้นำและทักษะการแสดงความคิดเชิงวิพากษ์ รวมถึงสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรม ตระหนักถึงคุณธรรม จริยธรรม และการไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 

 

แนวทางในการประกอบอาชีพ

หลักสูตรนี้ได้ออกแบบให้มีความทันสมัย เน้นการผลิตนวัตกรด้านวัสดุที่ตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งระดับชาติและนานาชาติ นักศึกษาที่เรียนจบในหลักสูตรนี้สามารถทำงานในองค์กรในประเทศ องค์กรข้ามชาติ หรือองค์กรในต่างประเทศ เนื่องจากการเรียนการสอนใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ และเน้นการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษทั้งในห้องเรียน ในการสัมมนานำเสนอผลงานของนักศึกษา นอกจากนี้หลักสูตรยังเสริมสร้างคุณลักษณะพิเศษให้แก่นักศึกษา ได้แก่การสร้างแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ การคิดต้นทุนและความคุ้มค่าของการสร้างสรรค์วัสดุนวัตกรรม แนวคิดการพัฒนาวัสดุเพื่อความยั่งยืน การสร้างสรรค์ผลงานวิจัยในระดับนานาชาติและการมีความเป็นผู้นำ ตัวอย่างของงานที่สามารถทำได้ ได้แก่

  1. นักวิจัยและพัฒนาวัสดุนวัตกรรม นักออกแบบการผลิต นักนวัตกรรมวัสดุ ด้านควบคุมการผลิตและควบคุมคุณภาพในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วัสดุชนิดต่างๆ รวมทั้ง 10 เป้าหมายอุตสาหกรรมแห่งรัฐบาล (S-Curve) 
  2. นักวิชาการและนักวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และวัสดุนวัตกรรมนักวิชาการ อาจารย์และนักวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ ในหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอิสระและองค์กรมหาชน ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) หรือศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ในสังกัด สวทช. สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) หรือ PTT Global Chemical Public Company Limited (PTTGC) หรือบริษัทในเครือ SCG เป็นต้น 
  3. ผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม กลุ่มสตาร์ทอัพ ที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุนวัตกรรมและธุรกิจที่สอดคล้องกับกระแสหลักของโลกในปัจจุบันและอนาคตที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน 
  4.  อาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร

  • PLO1 แสดงออกซึ่งจริยธรรมทางวิชาการ จริยธรรมการวิจัย และการไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
  • PLO2 อธิบายเชื่อมโยงองค์ความรู้ขั้นสูงด้านวัสดุศาสตร์ เครื่องมือวิเคราะห์ทางวัสดุที่สำคัญรวมถึงเครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูง กระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์ และการพัฒนานวัตกรรมวัสดุวัสดุที่ทันต่อยุคสมัยสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • PLO3 สร้างสรรค์งานวิจัยและวัสดุนวัตกรรมที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เลือกใช้คณิตศาสตร์และสถิติขั้นสูงในการวิเคราะห์วัสดุนวัตกรรม 
  • PLO4 สามารถวิเคราะห์และประเมินมูลค่าและความคุ้มค่า รวมถึงวัฏจักรชีวิตและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของวัสดุนวัตกรรม
  • PLO5 มีทักษะการคิดอย่างเป็นระบบในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนอย่างสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ มีทักษะความเป็นผู้นำและทักษะการแสดงความคิดเชิงวิพากษ์ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรมได้
  • PLO6 นำเสนอสารสนเทศทางนวัตกรรมวัสดุและผลงานวิจัยเพื่อการสื่อสารทางวิชาการในระดับนานาชาติได้

 

ค่าธรรมเนียม

  • สาขาวิชาวัสดุศาสตร์ (แบบที่ 1.1) จำนวน 6 ภาคการศึกษาในหลักสูตร
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อหลักสูตร 210,000 .- บาท
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา 35,000 .- บาท

 

โครงสร้างหลักสูตร

แบบ 1.1  
  จำนวนหน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตร 48 หน่วยกิต (หลักสูตร 3 ปี)
    1. หมวดรายวิชาบังคับแบบไม่นับหน่วยกิต (เทียบเท่า 6 หน่วยกิต)  
    2. หมวดวิชาสัมมนา แบบไม่นับหน่วยกิต (เทียบเท่า 3 หน่วยกิต)  
    3. หมวดรายวิชาวิทยานิพนธ์           48 หน่วยกิต
   

 

ข้อมูลอ้างอิง

อ้างอิงจาก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชานวัตกรรมวัสดุเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2565

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 19 ก.ค. 65