สาขาวิชาเคมีประยุกต์

หลักสูตร

ภาษาไทย: หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมีประยุกต์
ภาษาอังกฤษ: Master of Science Program in Applied Chemistry

 

ชื่อปริญญา

ภาษาไทย: ชื่อเต็ม : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เคมีประยุกต์)
ชื่อย่อ : วท.ม. (เคมีประยุกต์)
ภาษาอังกฤษ: ชื่อเต็ม : Master of Science (Applied Chemistry)
ชื่อย่อ : M.Sc. (Applied Chemistry)

 

ปรัชญา / วัตถุประสงค์

ปรัชญาของหลักสูตร
เคมีประยุกต์เป็นสหวิทยาการโดยการบูรณาการองค์ความรู้ด้านเคมีในสาขาต่างๆร่วมกับศาสตร์อื่นๆได้แก่ พืชศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ชีววิทยา การแพทย์ปัจจุบันและการแพทย์ทางเลือก วิทยาศาสตร์การแพทย์ วัสดุศาสตร์ วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง วิทยาศาสตร์การอาหารและการเกษตร เพื่อรวมเป็นศาสตร์ทางเคมีประยุกต์สำหรับการพัฒนาองค์ความรู้หรือนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ตลอดทั้งนำพาสังคมไทยไปสู่เป้าหมายของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นการพัฒนากำลังคนทางด้านเคมีประยุกต์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการสร้างองค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมทางเคมีประยุกต์จำเป็นต้องอาศัยกำลังคนที่มีความรู้ ความเข้าใจวิทยาศาสตร์ระดับสูง ที่สามารถบูรณาการองค์ความรู้ศาสตร์อื่นๆเพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมได้ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตบัณฑิต สาขาเคมีประยุกต์ จึงมุ่งสร้างให้บัณฑิตเป็นผู้มีความชำนาญในการทำวิจัยเฉพาะทาง ด้านเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เคมีวิเคราะห์ หรือเคมีพอลิเมอร์ โดยสามารถนำความรู้และทักษะงานวิจัยไปประยุกต์ใช้หรือพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ปัจจุบันและสามารถแก้ไขปัญหาหรือวิกฤติได้ด้วย สติ ปัญญาและความสามารถ มีบุคลิกภาพที่ดีและสามารถสื่อสารทางวิชาการในระดับชาติหรือนานาชาติได้ดี ตลอดทั้งมีคุณธรรมและจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อการพัฒนาตนเอง วิชาชีพ และสังคม และสามารถเลือกใช้ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้รอบด้านอย่างเหมาะสม

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมีประยุกต์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สามารถบูรณาการและประยุกต์องค์ความรู้ด้านเคมีร่วมกับศาสตร์อื่นเพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่มีคุณภาพเฉพาะทาง ด้านเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เคมีวิเคราะห์ หรือเคมีพอลิเมอร์ และกอปรด้วยการมีจิตยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในวิชาชีพ ตลอดทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้และสื่อสารกับสังคมได้   

 

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเคมีประยุกต์ มุ่งสร้างให้บัณฑิตเป็นผู้มีความชำนาญในการทำวิจัยโดยสามารถนำความรู้และทักษะงานวิจัยไปประยุกต์หรือพัฒนานวัตกรรมเฉพาะทาง ด้านเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เคมีวิเคราะห์ หรือเคมีพอลิเมอร์ได้ รวมทั้งรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและสามารถแก้ไขปัญหาหรือวิกฤติได้ด้วยสติ ปัญญาและความสามารถ มีบุคลิกภาพที่ดีและสามารถสื่อสารทางวิชาการในระดับชาติหรือนานาชาติได้ดี ตลอดทั้งมีคุณธรรมและจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อการพัฒนาตนเอง วิชาชีพ และสังคม และสามารถเลือกใช้ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างรอบด้านและเหมาะสม บัณฑิตสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 

  1. อาจารย์ประจำสาขาเคมีหรือเคมีประยุกต์เฉพาะทาง ด้านเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เคมีวิเคราะห์ หรือเคมีพอลิเมอร์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน 
  2. นักวิชาการหรือนักวิทยาศาสตร์ด้านเคมีและเคมีประยุกต์เฉพาะทาง ด้านเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เคมีวิเคราะห์ หรือเคมีพอลิเมอร์ ในหน่วยงานของรัฐและเอกชน เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) องค์การเภสัชกรรม การปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย (ปตท) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 
  3. นวัตกรเฉพาะทาง ด้านเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เคมีวิเคราะห์ หรือเคมีพอลิเมอร์ ประจำบริษัทเอกชน 
  4. ผู้ชำนาญการด้านเคมีหรือเคมีประยุกต์เฉพาะทาง ด้านเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เคมีวิเคราะห์ หรือเคมีพอลิเมอร์ ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ 

 

ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร

  • PLO1 แสดงออกซึ่งการมีจรรยาบรรณในการวิจัย
  • PLO2 สามารถอธิบายองค์ความรู้ เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบขั้นสูง และกระบวนการวิจัยเฉพาะทาง ด้านเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เคมีวิเคราะห์ หรือเคมีพอลิเมอร์ เพื่อประยุกต์ร่วมกับศาสตร์อื่นๆได้ 
  • PLO3 สามารถออกแบบงานวิจัยได้อย่างเป็นระบบ มีทักษะการทำงานวิจัย การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบขั้นสูง และการประมวลผลทางเคมีได้อย่างถูกต้อง เพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนานวัตกรรมเฉพาะทาง ด้านเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เคมีวิเคราะห์ หรือเคมีพอลิเมอร์ได้ 
  • PLO4 มีความคิดริเริ่ม วางแผนและตัดสินใจแก้ปัญหาได้ กล้าแสดงความคิดเชิงวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรมได้
  • PLO5 สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลทางด้านเคมีได้ และสามารถสื่อสารทางวิชาการได้

 

ค่าธรรมเนียม

สาขาวิชาเคมีประยุกต์ แผน ก1 และ ก2 จำนวน 4 ภาคการศึกษาในหลักสูตร

 

  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อหลักสูตร 140,000.- บาท
  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา 35,000.- บาท

 

โครงสร้างหลักสูตร

แผน ก1  
  จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร จำนวน 36 หน่วยกิต (หลักสูตร 2 ปี)  
    1. หมวดรายวิชาบังคับแบบไม่นับหน่วยกิต   
    2. หมวดรายวิชาวิทยานิพนธ์           36 หน่วยกิต
       
แผน ก2  
  จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร จำนวน 36 หน่วยกิต (หลักสูตร 2 ปี)  
    1. หมวดวิชาบังคับ 6 หน่วยกิต
    2. หมวดวิชาเลือก 6 หน่วยกิต
    3. หมวดวิทยานิพนธ์ 21 หน่วยกิต
       

 

ข้อมูลอ้างอิง

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมีประยุกต์ พ.ศ. 2565

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 9 ส.ค. 65