ผศ.ดร.สุรัตน์ ละภูเขียว ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ พ.ศ. 2552

Categories: sci-ข่าวความภาคภูมิใจ

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศผู้ได้รับรางวัล "นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่" ประจำปี 2552 โดยมีพิธีประกาศร่วมกับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ณ โรงแรมสยามซิตี เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จำนวน 3 คน ได้แก่ ผศ.ดร.สุรัตน์ ละภูเขียว สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(มฟล.) ผศ.ดร.ธรรมนูญ ศรีทะวงศ์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.อมรชัย อาภรณ์วิชานพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ทั้ง 3 คน พร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2552 อีก 2 คน ได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมืองทองธานี

ปีนี้เป็นปีแรกที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับรางวัลอันทรงเกียรติของคนวิทยาศาสตร์ “นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2552” ซึ่งถือเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของคนที่ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจเพื่องานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ด้วยวัย 34 ปีกับผลงานวิจัยเกี่ยวกับเคมีของสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โดยสามารถแยกองค์ประกอบทางเคมีได้มากกว่า 80 สาร ในจำนวนนี้เป็นสารที่ไม่เคยมีการรายงานโครงสร้างมาก่อนกว่า 20 สารของ ผศ.ดร.สุรัตน์ ละภูเขียว ทำให้ผศ.ดร.สุรัตน์ ขึ้นแท่นรับรางวัลในปีนี้

“ผมรู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่ได้รับเลือกให้เป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของประเทศไทย ปี 2552 ความรู้สึกแรกคือภูมิใจว่างานวิจัยที่ทุ่มเทตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสัมฤทธิ์ผลมีคนมองเห็นคุณค่า และสิ่งที่ตามมาคือความภูมิใจที่ทำให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีชื่อเสียงในด้านผลงานวิจัย” ผศ.ดร.สุรัตน์ เปิดเผยถึงความรู้สึกภายหลังได้รับรางวัล

MFU News: อะไรทำให้อาจารย์สนใจทำวิจัยศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพของสมุนไพร
ผศ.ดร.สุรัตน์:
งานวิจัยนี้สืบเนืองมาจากตอนทำวิจัยเมื่อเรียนปริญญาโทและปริญญาเอก ซึ่งผมลงไปศึกษาเรื่ององค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพของพืชป่าชายเลนซะส่วนใหญ่ จากตรงนั้นทำให้พบสารใหม่จำนวน 15 สาร จากทั้งหมด 44 สาร ซึ่งบางสารไม่มีฤทธิ์ทางชีวภาพนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่ชาวบ้านสามารถนำไปกินได้ เช่น ถั่วขาว โกงกางใบใหญ่ และบางชนิดอย่างเมล็ดตีนเป็ดทะเลซึ่งมีความเป็นพิษสูงมาก มีฤทธิ์ในการกระตุ้นหัวใจ ถ้ารับประทานเข้าไปอาจจะทำให้หัวใจวายเฉียบพลันได้ แต่ในทางกลับกันเมล็ดตีนเป็ดทะเลก็มีสารที่ช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งหลายชนิดเช่น มะเร็งปอด มะเร็งในช่องปาก และมะเร็งทรวงอก และบางสารก็แสดงฤทธิ์ที่น่าสนใจ เช่น อนุพันธุ์ของสารประกอบแอนทราควิโนนที่แยกได้จากผลติ้วเกลี้ยง มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคมาลาเรียได้ ซึ่งเมื่อผลการแยกสารทางชีวภาพของพืชออกมาในทางบวกจึงอยากจะศึกษาเรื่องพืชสมุนไพรที่คนสามารถกินได้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะเมื่อหลายปีก่อนมีข่าวว่าบางประเทศได้นำเอาพืชสมุนไพรของไทยเราไปสกัดแล้วมีฤทธิ์ช่วยรักษาโรคกระเพาะ ซึ่งทางนั้นได้มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรด้วย จึงมีความคิดว่าเรามีทรัพยากรอยู่ใกล้ตัวน่าจะศึกษาค้นคว้าแล้วนำผลมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้

MFU News: อาจารย์ใช้ระยะเวลาในการศึกษาแยกสารประกอบทางชีวภาพในพืชสมุนไพรมานานเท่าไหร่
ผศ.ดร.สุรัตน์ : ประมาณ 3 ปีกว่าครับ ซึ่งในขณะที่ศึกษาปริญญาโทและเอกผมแยกสารได้ 44 สาร และอีก 80 สารเมื่อมาบรรจุเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสารที่ไม่เคยมีการรายงานโครงสร้างมาก่อนในโลกกว่า 20 สาร

MFU News: ทำไมอาจารย์ถึงสนใจเรียนวิทยาศาสตร์
ผศ.ดร.สุรัตน์: ผมมาเริ่มชอบเรียนวิทยาศาสตร์ตอนอยู่มัธยม 6 ซึ่งก่อนหน้านั้นผมไม่ได้ชื่นชอบหรือสนใจเลยคะแนนออกจะขี้เหร่ซะด้วยซ้ำไป แต่ตอนเรียนมัธยม 6 ได้ครูดีที่คอยเอาใจใส่ ครูสอนดีมากครับทำให้เราชอบครู พอเริ่มชอบครูแล้วก็มีความรู้สึกว่าเราต้องตั้งใจเรียนไม่ทำให้ครูผิดหวังเลยทำให้เกิดเป็นความชอบในวิชาวิทยาศาสตร์

MFU News: ทราบว่าตอนเข้าเรียนปริญญาตรีเริ่มแรกอาจารย์เรียนสาขาเกษตรศาสตร์

ผศ.ดร.สุรัตน์: ใช่ครับ ตอนแรกผมเรียนสาขาเกษตรที่สถาบันราชภัฎสุราษฏร์ธานี(ในขณะนั้น) ซึ่งจะมีวิชาเคมีด้วยตอนนั้นอาจารย์ที่สอนท่านเห็นคะแนนเราดีและมีแววจึงชวนมาเรียนวิทยาศาสตร์สาขาเคมี ผมก็เลยย้ายสาขามาเรียนวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ซึ่งระหว่างเรียนปริญญาตรีได้รับทุนแลกเปลี่ยนไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 ปี โดยก่อนกลับมาที่ประเทศไทยก็ได้ตัดสินใจว่าจะศึกษาต่อปริญญาโทในสาขาเคมีอินทรีย์ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(หาดใหญ่) และศึกษาต่อปริญญาเอกที่เดียวกันครับ

MFU News: เหมือนกับว่าเส้นทางสายวิทยาศาสตร์ของอาจารย์ได้ดีเพราะครู
ผศ.ดร.สุรัตน์: ถูกต้องครับ ผมเชื่อว่าแรงบันดาลใจหลายๆ อย่างของคนเราเกิดจากความชื่นชอบจากจุดเล็ก ส่วนของผมนั้นอาจจะไม่ได้ชอบในวิทยาศาสตร์มาก่อน แต่เพราะได้ครูที่ดีทำให้เราเกิดความชอบในวิชาที่ครูสอน และเมื่อเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้เจออาจารย์ที่เห็นแววนักวิทยาศาสตร์ของเราจึงได้ชักชวนมาเรียน ช่วยขัดเกลาความรู้ทักษะต่างๆ ให้ผมมาโดยตลอด มีครูท่านหนึ่งท่านได้บอกกับผมว่า “เมื่อเรียนหนังสือก็จะต้องอ่านหนังสือทุกวันจนกว่าเราจะจบการศึกษา” เพราะการทุ่มเทให้กับการเรียนจะทำให้เราประสบความสำเร็จ

MFU News: อาจารย์เป็นผู้หนึ่งที่สำเร็จการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก ในประเทศไทย อาจารย์มีความเห็นอย่างไรกับการที่หลายๆ คนเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ
ผศ.ดร.สุรัตน์: ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของค่านิยม จริงๆ แล้วผมมองว่าคนไทยเราเก่งนะ เก่งในหลายๆ ด้าน มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีความเพียบพร้อม แต่เราจะเสียเปรียบคนที่จบจากต่างประเทศเรื่องเดียวคือ “ภาษา” ตัวอย่างเช่นผมแม้จะมีทุนไปศึกษาแลกเปลี่ยนด้วยระยะเวลาเพียง 6 เดือนซึ่งอาจจะไม่สามารถทำให้เก่งภาษาอังกฤษขึ้นมาได้ แต่ก็ช่วยให้เราเกิดความกล้าที่จะพูดมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าในบางสาขาวิชาทางต่างประเทศเขาเชี่ยวชาญมากกว่าเราก็อาจจะต้องไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศเพื่อนำความรู้กลับมา

MFU News: สิ่งที่อาจารย์ได้รับเมื่อเรียนในประเทศคืออะไร
ผศ.ดร.สุรัตน์: ผมได้รับเครือข่าย ได้รับสายสัมพันธ์จากบุคคลต่างๆ จากสถาบันทั่วประเทศ ทำให้ผมทราบว่าเมื่อผมต้องการความช่วยเหลือ การหาแหล่งข้อมูล การขอเข้าใช้เครื่องมือทดสอบบางชนิดผมจะต้องไปที่ไหน ซึ่งผู้ที่จบจากต่างประเทศอาจจะไม่รู้ว่าควรจะไปทางไหนอย่างไรหรืออาจจะต้องส่งงานไปตรวจยังต่างประเทศ ตัวอย่างเช่นเรื่องการทำทดลองบางอย่างที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงยังไม่มีอุปกรณ์ผมก็จะสามารถหาสิ่งต่างๆ ได้จากเครือข่ายที่ผมมีในขณะเรียนหรือทำวิจัย

MFU News: อาจารย์แบ่งบทบาทของความเป็นอาจารย์ที่สอนลูกศิษย์และบทบาทของนักวิจัยอย่างไร
ผศ.ดร.สุรัตน์: ในช่วง 2 ปีแรกของการเป็นอาจารย์ผมจะต้องใช้เวลาในการเตรียมการสอนพอสมควร แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปก็ใช้ความรู้เก่าประยุกต์กับการเรียนปัจจุบันทำให้ไม่ต้องใช้เวลามาก ขณะที่ผมสอนนักศึกษาผมจะให้ความเป็นกันเองเพื่อที่เขาจะได้กล้าถามเมื่อมีปัญหา บางคนที่มาช่วยงานวิจัยผมเขาไม่ได้เก่งมากมายในช่วงแรกผมจะต้องประกบเขาตลอดเวลา แต่เมื่อเขามีความชำนาญก็สามารถปล่อยให้เขาทำงานได้เองโดยมีผมคอยดูแลอีกทีหนึ่ง ในบทบาทของนักวิจัยผมก็ได้นักศึกษามาช่วยด้วยตลอด ซึ่งเป็นการปลูกฝังและฝึกทักษะความเป็นนักวิจัยให้กับพวกเขา ผมอยากให้ครู-อาจารย์หันมามองนักศึกษาที่มีผลการเรียนปานกลางบ้าง อย่าคิดว่าเขาจะทำได้แค่นี้เพราะเด็กๆ กลุ่มนี้จะมีความพยายามเป็นอย่างมาก อยากจะทำให้พวกเขาซึ่งเปรียบเป็นทองให้กลายเป็นเพชรในอนาคตครับ

ด้านรศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(มฟล.) กล่าวถึงกรณีที่ ผศ.ดร. สุรัตน์ ละภูเขียว อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มฟล. ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ปี 2552 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า ผศ.ดร. สุรัตน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ระดับปริญญาตรีจากสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี ระดับโทและเอก จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ ที่ มฟล. สนใจศึกษาเกี่ยวกับการองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพของพืช สมุนไพร ต่างๆ แม้จะอายุยังน้อยอยู่ก็ตาม แต่มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องและจำนวนมาก จนกระทั่งในปีนี้ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลดังกล่าว

รศ.ดร.วันชัย กล่าวต่อว่า การเป็นอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัย จำเป็นต้องทำงานวิจัยควบคู่ไปด้วย เพื่อขยายกรอบความรู้ของตัวเอง
“เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องทำงานวิจัย ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก ก็ต้องมีกันทุกคน สำหรับเรื่องแนวทางนั้นก็ให้เป็นไปตามความสนใจของแต่ละคน ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้ขีดกรอบอะไรไว้ สำหรับมฟล. ก็ค่อนข้างสนใจงานวิจัยเกี่ยวกับสารที่ได้จากธรรมชาติ จากพืช สมุนไพร มีฤทธิ์บำบัดรักษาโรคหรือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องสำอางได้ หรือด้านการเกษตร” อธิการบดีมฟล. กล่าว

  • 602