นักวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตนาโนเซลลูโลสให้กับบริษัท วราฟู้ด แอนด์ ดริ๊ง จำกัด

Categories: sci-ข่าววิจัย

นักวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตนาโนเซลลูโลสให้กับบริษัท วราฟู้ด แอนด์ ดริ๊ง จำกัด

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อาจารย์ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ อาจารย์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย “การผลิตนาโนเซลลูโลสจากน้ำมะพร้าวเสียและของเสียจากกระบวนการผลิตกะทิเพื่อใช้เตรียมวัสดุชีวภาพทางการแพทย์” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ แผนบูรณาการวิจัยและนวัตกรรม (งบประมาณแผ่นดิน) ประจำปีงบประมาณ 2561 ผ่านสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้จัดการประชุมถ่ายทอดเทคโนโลยี “กรรมวิธีการผลิตนาโนเซลลูโลสจากน้ำมะพร้าวเสีย” และนำเสนอ “ต้นแบบผลิตภัณฑ์วัสดุชีวภาพทางการแพทย์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลที่ได้รับจากโครงการวิจัยให้กับ บริษัท วราฟู้ด แอนด์ ดริ๊ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจส่งออกเครื่องดื่มผลไม้ กะทิกระป๋อง ผัก-ผลไม้กระป๋อง เครื่องดื่มชาและกาแฟกระป๋อง โดยวัตถุดิบหลัก ได้แก่ น้ำมะพร้าว เนื้อมะพร้าวแก่ และ ผลไม้ เป็นต้น ส่งออกไปยังต่างประเทศมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยที่ บริษัท วราฟู้ด แอนด์ ดริ๊ง จำกัด เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ร่วมดำเนินการและผู้ใช้ประโยชน์จากโครงการวิจัยนี้ มี คุณชัยวัฒน์ คุณวโรตม์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และ คุณธนณัฏฐ์ อริยะสิริภัค เจ้าหน้าที่บริษัท วราฟู้ด แอนด์ ดริ๊ง จำกัด เข้าร่วมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเพื่อให้เข้าใจภาพรวมของการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวอีกด้วย

ในภาคบ่าย ณ ห้องประชุม MEDI Co-Working Space อาคาร I-Park ทีมวิจัยของหน่วยวิจัยผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์และนวัตกรรม (Microbial Products and Innovation: MP&I) เจ้าหน้าที่จากสถาบันชาและกาแฟแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและพัฒนานวัตกรรม (MFii) ได้เข้าร่วมหารือกับบริษัท วราฟู้ด แอนด์ ดริ๊ง จำกัด เพื่อต่อยอดงานวิจัยอื่นๆ และหาช่องทางในการทำวิจัยร่วมกัน โดยได้รับความสนใจจากทั้งนักวิจัยและ บริษัท วราฟู้ด แอนด์ ดริ๊ง จำกัด เป็นอย่างดี และมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการวิจัยร่วมกันในเร็วนี้

  • 873